Body Project Official

ลดน้ำหนักกินฝั่งไหน?

เพื่อนๆ หลายคนกลัวการ “กินข้าว” เพราะเข้าใจว่ากินข้าวแล้วจะทำให้อ้วน
 
ซึ่งในความเป็นจริงข้าวมีคุณประโยชน์มาก และให้แคลอรี่น้อย ข้าว 100 กรัม ให้พลังงาน 130 Kcal ในขณะที่อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแบบเดียวกัน ในปริมาณเท่ากันให้แคลอรี่สูงกว่าข้าวทั้งนั้น อย่างเช่น ขนมปัง ให้พลังงาน 267 Kcal ,คอนเฟลก ให้พลังงาน 365 Kcal กราโนร่า ให้พลังงาน 471 Kcal เป็นต้น หลายคนที่ไดเอทด้วยการอดข้าว ไม่กล้ากินข้าว กินแต่ผัก ผลไม้ หรือกินอาหารเฮลตี้อย่างซีเรียล กราโนร่า คอนเฟลก พวกนี้แทน ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูง ทำให้อ้วนลงพุงได้
 
สรุปแล้วข้าวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ว่าเพื่อนๆ จะกินอะไรก็อ้วนได้ทั้งนั้น ถ้าคุณกินแคลอรี่เกินกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ในแต่ละวันค่ะ

หุ่นสวยได้ ถ้าเข้าใจโครงสร้างตัวเอง

เพื่อนๆ หลายคนคงสงสัยว่า ทำไม่คนนี้กินอะไรก็ไม่อ้วน เรากินแค่นี้ทำไมอ้วนเร็วจัง ทำไมคนนี้หุ่นดีจัง ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเลย
 
โพสต์นี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนรูปร่างต่างๆ หรือ Body Type มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ Body Type คือ ลักษณะทางโครงสร้างพื้นฐานของร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม แบ่งหลักๆ ได้เป็น 3 ประเภท
1. รูปร่างผอม เอกโตมอร์ฟ (Ectomorph)
– ลักษณะของคนที่มีรูปร่างประเภทนี้
กระดูกเล็ก ผอม ดูแขนยาว ขายาว ไหล่แคบ สะโพกเล็ก กล้ามเนื้อมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับความยาวของกระดูก มีไขมันสะสมในร่างกายน้อย และมีเมตาบอลิซึม (Metabolism) ที่ดี ทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานได้ดี และไวมาก
– คนที่มีลักษณะประเภทนี้
ควรเวทเทรนนิ่งแบบ Heavy Weights & Low Reps คือใช้น้ำหนักที่มาก แต่จำนวนครั้งน้อย คาร์ดิโอสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอแล้วค่ะ อาหารที่ทานเน้นไปทางคาร์โบไฮเดรต ตามด้วย โปรตีน และไขมันดีค่ะ
 
2. รูปร่างสมส่วน เมโซมอร์ฟ (Mesomorph)
– กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีรูปร่างที่หลายคนใฝ่ฝันเลยค่ะ
คนกลุ่มนี้จะมีกระดูกขนาดกลาง กล้ามเนื้อสมบูรณ์ แข็งแรง โครงสร้างโดยรวมดูสวยงาม รูปร่างเหมาะที่จะเป็นนักกีฬา เพิ่ม/ลด น้ำหนักสามารถทำได้ง่าย สร้างกล้ามเนื้อได้ง่าย แต่สะสมไขมันได้ง่ายกว่าคนกลุ่ม Ectomorph
– คนที่มีลักษณะประเภทนี้
ออกกำลังได้หลายรูปแบบการเวทเทรนนิ่ง สามารถใช้น้ำหนักที่เยอะ และจำนวนครั้งที่มากได้ ควรที่จะเวทเทรนนิ่งควบคู่กับการคาร์ดิโอไปด้วยกัน และควบคุมอาหารที่แคลอรี่สูงๆ เพราะคนกลุ่มนี้ไขมันสะสมได้ง่ายกว่า Ectomorph ค่ะ
 
3. รูปร่างอ้วน เอนโดมอร์ฟ (Endomorph)
– ลักษณะของคนกลุ่มนี้
ดูตัวกลม ตัวนิ่ม แขน ขาดูสั้นมีขนาดใหญ่ เนื่องจากมีไขมันสะสมในร่างกายมาก มีเมตาบอลิซึม (Metabolism) ที่ต่ำ จึงทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ช้า
– คนที่มีลักษณะประเภทนี้
ควรฝึกเวทเทรนนิ่งแบบ High Sets & High Reps คือการฝึกแบบ น้ำหนักปานกลาง จำนวนครั้ง และจำนวนเซตเยอะ พักระหว่างเซตน้อย ควบคู่กับการคาร์ดิโอไปด้วยในแต่ละวัน เพื่อที่จะไปช่วยในเรื่องระบบเผาผลาญได้ดีขึ้น และควรระวังการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทก จะมีผลต่อข้อต่อต่างๆ ค่ะ เนื่องจากมีน้ำหนักตัวมาก ควรหลีกเลี่ยงอาหารแคลอรี่สูงๆ และเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และน้ำตาลสูง เน้นไปทางด้านโปรตีนค่ะ
 
การเป็น Ectomorph ไม่ได้หมายความว่าคุณจะอ่อนแอ หรือ Endomorph จะไม่ดีต่อสุขภาพค่ะ ทุกโครงสร้างยังคงแข็งแกร่งได้ เป็นคนที่ฟิต และสุขภาพดีได้ ทุกคนมีหุ่นที่สวย ในแบบของตัวเองได้ ถ้าคุณเข้าใจตัวเองค่ะ ดังนั้น เลือกกินแต่ของที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพื่อตัวคุณเองนะคะ

ออกกำลังกายคุมโซน Heart Rate เท่าไหร่ดี จึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด

ออกกำลังกายคุมโซน Heart Rate เท่าไหร่ดี จึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด
หากคุณกำลังมีอาการเหนื่อยหอบ รู้สึกหายใจไม่ทันขณะกำลังออกกำลังกาย หรือสงสัยว่าการออกกำลังกายที่ฝึกซ้อมอยู่มีระดับความเข้มข้นเพียงพอที่จะส่งผลดีต่อร่างกายหรือไม่ ออกกำลังกายหนักไป หรือเบาไปรึเปล่า เมื่อคุณมองไปรอบๆ คนที่อยู่ข้างๆ คุณนั้นแทบจะไม่มีเหงื่อแตกออกมาเลย ในขณะที่คนข้างหน้าเปียกโชกทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า ‘เหงื่อ’ อาจไม่ใช่ตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดในการออกกำลังกาย แต่ ‘หัวใจ’ ของคุณต่างหากที่จะบอกคุณได้
 
ทำไมต้องตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ?
อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) เป็นสิ่งที่จะช่วยตอบคำถามที่ทุกคนสงสัยข้างต้นได้อย่างแม่นยำ และชัดเจนที่สุด เมื่อคุณออกกำลังกายหัวใจของคุณจะเต้นเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการเลือด และออกซิเจนที่มากขึ้นของกล้ามเนื้อในร่างกาย ยิ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเข้มข้นมากเท่าไหร่หัวใจของคุณก็จะยิ่งเต้นเร็วมากขึ้น ดังนั้นการตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจในระหว่างการออกกำลังกาย จึงเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการติดตามระดับความเข้มข้นของการออกกำลังกาย
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายแบบแอโรบิคเป็นส่วนใหญ่จะมีความเข้มข้นของการออกกำลังกายที่หลากหลาย ดังนั้น หากตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจให้เหมาะสมกับการออกกำลังกายแต่ละประเภท และเหมาะสมกับเป้าหมายในการออกกำลังกายก็จะทำให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น ในการกำหนดช่วงอัตราการเต้นของหัวใจที่ดีที่สุด คุณจะต้องเข้าใจความหมายของคำศัพท์ 2 คำนี้
1. อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (Maximal Heart Rate – MHR) ตัวเลขนี้มีความเกี่ยวข้องกับ ‘อายุ’ ของคุณด้วยในขณะที่คุณมีอายุมากขึ้น หัวใจของคุณจะเริ่มเต้นช้าลงกว่าเดิมเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ เพศ ,ประเภทกีฬา ที่มีผลต่อค่าประมาณอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดแต่ละคน
มีผู้คิดค้นสูตรคำนวณ Max Heart Rate ไว้หลายสูตร ซึ่งแต่ละสูตรมีความแม่นยำที่แตกต่างกัน
* สูตรที่ใช้อายุ : คิดค้นโดย Fox เป็นสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ผลการวิจัยพบว่ามีความแม่นยำน้อยกว่าสูตรของ Tanaka
* สูตรที่ใช้อายุ เพศ และกิจกรรมที่ทำ : คิดค้นโดย Tanaka เป็นสูตรที่มีการทดลองเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์กับสูตรของ Fox ผลปรากฏว่ามีความแม่นยำมากกว่า
2. โซนอัตราการเต้นของหัวใจเป้าหมาย (Target Heart Rate Zone) นี่คือจำนวนการเต้นต่อนาที (bpm) ที่หัวใจของคุณควรเต้นในระหว่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิค “สำหรับคนที่มีสุขภาพดี ช่วงที่ดีที่สุดคือ 50 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (Zone1 – Zone3)”
 
ดังนั้นหากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดของคุณคือ 180 bpm ค่าต่ำสุดของช่วง (50 เปอร์เซ็นต์) จะเท่ากับ 90 bpm และค่าสูงสุดของช่วง (80 เปอร์เซ็นต์) จะเป็น 144 bpm
Heart Rate Zone แต่ละช่วงจะให้ประโยชน์กับร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรกำหนดเป้าหมายในการออกกำลังกายให้ชัดเจน แล้วเน้นออกกำลังกายให้มีอัตราการเต้นของหัวใจต่อนาทีอยู่ในช่วงโซนนั้น ตัวอย่างเช่น
* ออกกำลังเพื่อรักษาสุขภาพ ฟื้นฟูร่างกาย ควรออกกำลังกายเบาๆ ให้อยู่ในโซน 1
* เน้นลดน้ำหนัก ลดไขมัน ควรออกกำลังกายให้อยู่ในโซน 2
* เน้นความฟิต เพิ่มความแข็งแกร่ง ควรออกกำลังกายให้อยู่ในโซน 3 หรือโซน 4
* เน้นการแข่งขัน ทรหดอดทน ควรออกกำลังกายให้อยู่ในโซน 5
สามารถดูข้อมูลประโยชน์ของการออกกำลังกายทั้ง 5 โซนได้จากภาพ
 
‘ช่วงอัตราการเต้นของหัวใจที่แนะนำ’ หมายความว่าอย่างไร
ตอนนี้คุณได้ทราบโซนอัตราการเต้นของหัวใจเป้าหมายแล้ว คุณจำเป็นต้องรู้วิธีนำข้อมูลนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะใช้เป็นแนวทางเพื่อบ่งบอกว่า คุณควรออกกำลังกายหนักแค่ไหน
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นออกกำลังกายแบบแอโรบิก ควรตั้งเป้าหมายไว้ที่จุดต่ำสุดของโซน และค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อร่างกายปรับตัวจนรู้สึกออกกำลังกายได้อย่างสบายๆ สำหรับผู้ที่ต้องการความฟิต หรือผู้ที่กำลังฝึกซ้อมเพื่อการแข่งขัน อาจต้องตั้งเป้าหมายไปที่ตัวเลขท้ายสุดของโซน จากที่กล่าวไปในตอนต้นของบทความว่า ‘อายุ’ ส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ดังนั้นแต่ละช่วงวัยจึงมีค่าอัตราการเต้นของหัวใจในแต่ละโซนที่ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น อัตราการเต้นของหัวใจโซน 2
* Heart Rate Zone 2 ของคน อายุ 20 อยู่ที่ 120 bpm
* Heart Rate Zone 2 ของคน อายุ 30 อยู่ที่ 114 bpm
* Heart Rate Zone 2 ของคน อายุ 40 อยู่ที่ 108 bpm
* Heart Rate Zone 2 ของคน อายุ 50 อยู่ที่ 102 bpm
* Heart Rate Zone 2 ของคน อายุ 60 อยู่ที่ 96 bpm
 
สำคัญ!
โปรดทราบว่า นี่เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่กำลังรับประทานยาที่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
วิธีตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ
ปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจหลากหลายมาก แต่อุปกรณ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำก็คือ ‘สมาร์ทวอช’ ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ แต่จุดของร่างกายที่สะดวกที่สุดในการตรวจจับชีพจร คือ นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้าง และอีกจุดคือบริเวณด้านข้างของลำคอ
วิธีเบื้องต้นที่ทำได้ง่ายที่สุด คือ การนับชีพจรด้วยการใช้สองนิ้วแรกของมือเดียวกัน แตะไปบริเวณที่มีหลอดเลือด ที่พบเห็นได้บ่อยก็คือบริเวณข้อมือ ควรจับชีพจรทันทีหลังจากออกกำลังกาย และนับจำนวนการเต้นของชีพจรในระยะเวลา 10 วินาที จากนั้นนำมาคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจต่อนาที โดยนำจำนวนการเต้นต่อ 10 วินาที มาคูณด้วย 6 ตัวอย่างเช่น หากนับชีพจร 10 วินาทีได้เท่ากับ 20 ดังนั้นอัตราการเต้นของหัวใจจะเป็น 120 bpm (20 x 6)
 
บทสรุป
จำไว้ว่าโซนอัตราการเต้นของหัวใจเป้าหมายเป็นเพียงค่าโดยประมาณเท่านั้น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองออกกำลังกายหนักเกินไป ให้ลองลดความเข้มข้นในการออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬา แล้วลองหาช่วงอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมกับตัวเองด้วยการลดตัวเลขควบคู่ไปกับการวัดจากความรู้สึกขณะออกกำลังกาย