Body Project Official

แค่เปลี่ยนการกิน หุ่นก็เปลี่ยน

เมื่อกินอาหารร่างกายก็จะย่อยอาหารเพื่อนำสารอาหารมาใช้ซ่อมแซม ฟื้นฟู ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต และเปลี่ยนพลังงานจากอาหารมาเก็บสำรองไว้ในร่างกายในรูปของไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ และไขมัน ซึ่งจะสะสมไว้ที่ตับ กล้ามเนื้อ และชั้นไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานไว้ใช้เพียงพอ

แค่เปลี่ยนการกิน เลือกกินมื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ กินอาหารให้ได้พลังงาน และสารอาหารเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ และได้สารอาหารครบถ้วนหลากหลาย ทั้งโปรตีน (เลือกแหล่งโปรตีนที่ไขมันต่ำ ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา อกไก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชเต็มเมล็ด) และไขมันชนิดดี (น้ำมันที่ไขมันอิ่มตัวต่ำ ,อัลมอนด์ ,อะโวคาโด ,น้ำมันมะกอก) เลือกกินผักผลไม้ให้ครบทุกสีหมุนเวียนกันไป (เพื่อให้ได้ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ) แต่ก็ต้องระวังการกินผลไม้ที่มีรสหวานจัด เพื่อเลี่ยงน้ำตาลแฝงในผลไม้ และสำคัญในการเลือกวิธีปรุงอาหารคือ เน้นวิธีการต้ม นึ่ง อบ ย่างจะดีที่สุด เพราะแคลอรี่ต่ำจะได้ไม่อ้วน

ข้อห้ามถ้าไม่อยากอ้วนขึ้น ควรเลี่ยงอาหารผัด อาหารทอดต่างๆ โดยเฉพาะอาหารที่ทอดน้ำมันท่วมๆ ตามแนวทางสายคลีน คือ การไม่ปรุงรสอาหารเลยจะดีที่สุดหรือหากจะปรุงรสก็ใช้น้ำมัน น้ำตาล เกลือ ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ และงดกินของที่ทำให้อ้วน เช่น junkfood ,ขนมหวาน เค้ก เบเกอรี่ น้ำหวานต่างๆ เป็นต้น การกินคลีนในแบบวิถีที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน และยังช่วยในเรื่องควบคุมน้ำหนักได้ด้วยค่ะ

ใน 1 วันเวทเทรนนิ่งใช้เวลาเท่าไหร่กันนะ

หลายคนไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาในการเล่นเวทนานแค่ไหน ซึ่งโดยเฉลี่ยๆ จะใช้เวลาประมาณ 45-60 นาทีต่อครั้ง เล่น 6-8 ท่า 3-4 เซตต่อท่า พักระหว่างท่า 1-2 นาที (อันนี้ไม่พูดถึงกรณีนักกีฬานะคะ เพราะนักกีฬาจะมีการฝึกซ้อมที่เข้มข้น)

เพื่อนๆ ลองดูภาพตามนะคะ
นาง ก กับ นาง ข เวทเทรนนิ่ง 6 ครั้ง/สัปดาห์ นาง ก เวท 3 วัน ใช้เวลา 2 ชม.ต่อครั้ง นาง ข เวท 6 วัน ใช้เวลา 1 ชม.ต่อครั้ง (สมมติว่าปัจจัยด้านอื่นคงที่) แน่นอนนาง ข มี Transform มากกว่านาง ก เพราะความเข้มข้นในการฝึกซ้อมสำคัญกว่าระยะเวลาค่ะ

หรือนาง ก สมัครยิมรายปี กับ นาง ข สมัครยิมราย 6 เดือน (สมมติให้ปัจจัยด้านอื่นคงที่) นาง ก มายิมอาทิตย์ละ 2 ครั้ง = 1 ปีมาทั้งหมด 96 ครั้ง นาง ข มายิมอาทิตย์ละ 4 ครั้ง = 6 เดือนมาทั้งหมด 96 ครั้ง
จำนวนครั้งที่มาเท่ากันเพื่อนๆ คิดว่านาง ก หรือ นาง ข ใครหุ่นเปลี่ยน คำตอบคือนาง ข เหตุผลเพราะความต่อเนื่องในการฝึกซ้อมสำคัญกว่าระยะเวลา การออก 4 ครั้ง/สัปดาห์ ร่างกายจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน กว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์

เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนๆ ถามว่าใช้เวลาเท่าไหร่ ตอบไม่ได้ เพราะแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน หลายคนออกกำลังกายมา 10 ปี แต่ไม่ค่อยมีพัฒนาการ กับอีกคนใช้เวลา 3 ปี แต่มีพัฒนามากกว่า ระยะเวลาก็ส่วนนึง แต่คุณภาพ และความต่อเนื่องสำคัญกว่าค่ะ

ใน 1 วันกินเท่าไหร่ยังไงดีนะ

ก่อนที่คุณจะรู้ว่าต้องกินเท่าไหร่ คุณต้องรู้ก่อนว่าทั้งวันคุณใช้พลังงานเท่าไหร่ ซึ่งในแต่ละวันใช้พลังงาน 3 รูปแบบ TDEE = BMR + TEF + PA

– BMR คือ อัตราการเผาผลาญพลังงานขณะพักหรือไม่ได้ขยับร่างกายนอนเป็นผักอยู่เฉยๆ แต่ร่างกายยังทำงานเพื่อให้คุณมีชีวิตอยู่ค่ะ เช่น การเต้นหัวใจ การหายใจ เป็นต้น ซึ่ง BMR แต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง กล้ามเนื้อ พฤติกรรมการกินของแต่ละคนค่ะ

– TEF คือ พลังงานที่เราต้องใช้ในการย่อย ดูดซึม และสะสมอาหาร ซึ่งคุณจะใช้พลังงานนี้ประมาณ 10% ของ TDEE ประเภทของอาหารก็มีส่วนสำคัญในการใช้พลังงาน 3 สารอาหารหลัก มีการใช้พลังงานในการย่อย ดูดซึม และสะสมที่แตกต่างกันดังนี้ คาร์โบไฮเดรต 5–10%,ไขมัน 0–3%, โปรตีน 20–30% นี่คือหนึ่งในหลายสาเหตุที่ว่าการเพิ่มปริมาณโปรตีนในแต่ละมื้อจะช่วยในการลดไขมัน นอกเหนือจากช่วยในการซ่อมแซม และสร้างกล้ามเนื้อ โปรตีนจะใช้พลังงานในการเผาผลาญ ย่อย และดูดซึมมากที่สุดในอาหารหลักทั้ง 3 ประเภทค่ะ

– PA (Physical Activity) ซึ่งการเคลื่อนไหวร่างกายแต่ละคนก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาชีพ ไลฟ์สไตล์ คนที่ไม่ค่อยขยับเขยื้อนออกกำลังกายก็จะใช้พลังงาน 15% ของ TDEE คนที่กระฉับกระเฉงหรือใช้แรงงานตลอดเวลาจะใช้พลังงาน 50% ของ TDEE รวมทั้งการออกกำลังกายด้วย วิ่ง เวทเทรนนิ่ง เล่นกีฬาต่างๆ

เอาเป็นว่าไม่ต้องคิดเองให้ยุ่งยาก มีสูตรคำนวณค่าพวกนี้ใน Google ค้นหาว่าคำนวณค่า TDEE และกรอกข้อมูลลงไปก็คำนวณให้เรียบร้อย ต้องบอกก่อนว่าค่า TDEE ที่คำนวณเป็นไกด์ไลน์ให้นะคะ ค่านี้อาจไม่ได้ตรงเป๊ะ 100% Body Project เลยอธิบายให้เพื่อนๆ เข้าใจว่า TDEE มาจากอะไรบ้าง

ถ้าคุณอยากลดน้ำหนัก/ลดไขมันต้องกินยังไง? ก็คือกินให้น้อยกว่า TDEE เกิด Calorie Deficit แต่ต้องไม่น้อยกว่าค่า BMR เพราะอย่าลืมว่านั่นคือ อัตราการเผาผลาญพื้นฐาน ถ้ากินน้อยกว่า BMR นานๆ ทำให้ระบบเผาผลาญต่ำ ตรงกันข้ามถ้าคุณกินเยอะกว่า TDEE พลังงานเกิน Calorie Surplus ก็จะอ้วนขึ้นค่ะ ตัวอย่าง นางA ใช้ TDEE 1,800 Cal ทั้งวันนางA กิน 1,500 Cal เกิดส่วนต่าง 300 Cal ผ่านไป 1 เดือนนางA ไขมันลดลง 1 กก. แต่ถ้านางA กินมากกว่า 1,800 Cal ส่วนเกินก็ถูกเก็บเป็นไขมันสะสม ทำให้อ้วนขึ้น เป็นต้น

ไม่ว่าเพื่อนๆ จะหาวิธีไดเอทรูปแบบไหนก็ตาม คุณไม่สามารถหนีกฎธรรมชาตินี้ได้คือ Calories Balance การลดน้ำหนัก/ลดไขมัน ไม่มีอะไรยุ่งยาก ไม่มีความซับซ้อนเลย แค่เข้าใจกฎนี้ค่ะ

แหล่งไขมัน เลือกกินให้ถูกเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ

เชื่อว่าหลายๆ คนแค่ได้ยินคำว่า “ไขมัน” ก็อยากจะหลีกเลี่ยงไปให้ไกลๆ แต่จริงๆ แล้วไขมันมีอะไรมากกว่าแค่ทำให้ “อ้วน” เพราะจริงๆ แล้วไขมันมีหน้าที่ต่างๆ มากมายที่ช่วยในกลไกการทำงานของร่างกาย แน่นอนว่ามีทั้งประโยชน์ และโทษ วันนี้ Body Project จะมาทำความเข้าใจ “ไขมัน” กันใหม่

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คืออะไร?
คอเลสเตอรอล คือ อนุภาคไขมันซึ่งผลิตขึ้นที่ตับ และนำส่งไปที่เซลล์ต่างๆ เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนเพศ และสร้างสารสเตอรอลที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังเพื่อเปลี่ยนเป็นวิตามินดีเมื่อผิวสัมผัสกับแสงแดด และยังทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของผนังเซลล์
ใน 1 วัน ควรได้รับคอเลสเตอรอลเท่าไหร่?
ในหนึ่งวันควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200-300 มิลลิกรัม เพราะถึงแม้ว่าคอเลสเตอรอลจะมีประโยชน์ต่อการทำงานของกลไกในร่างกายบางส่วน แต่การได้รับคอเลสเตอรอลในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกาย และควรระมัดระวังอย่างมาก ซึ่งการที่ร่างกายจะได้รับคอเลสเตอรอลเข้าไปนั้นก็มาจากการรับประทานอาหารต่างๆ ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องรู้ว่าอาหารอะไรให้ไขมันชนิดไหนกันบ้าง โดยคอเลสเตอรอลที่ควรรู้จักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ชนิดไขมันดี (High Density Lipoprotien) หรือ HDL
2. ชนิดไขมันเลว (Low Density Lipoprotein) หรือ LDL

ไขมันดี (High Density Lipoprotien) หรือ HDL
เป็นไขมันที่เปรียบเสมือนพาหนะบรรทุกไลโปโปรตีน (Lipoprotein) ที่มีความหนาแน่นสูง โดยจะขนส่งไขมันในเลือดทั่วร่างกายไปทำลายที่ตับ ไขมัน HDL จึงเป็นไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกาย เมื่อร่างกายมีปริมาณไขมัน HDL สูงก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งโดยปกติแล้วระดับไขมัน HDL ในผู้ชายจะมากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (หากน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยง) และผู้หญิงควรมีมากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (หากน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยง)
อาหารแหล่งไขมันดี (HDL)

ไขมันเลว (Low Density Lipoprotein) หรือ LDL
เป็นไขมันที่ติดกับหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หลอดเลือดหัวใจแข็งได้ และถ้าไปสะสมที่สมองอาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ถ้าไปสะสมที่หลอดเลือดฝอยจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย ถ้าไปสะสมที่ผนังหลอดเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานจะทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้
อาหารแหล่งไขมันเลว (LDL)

จริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นตัวร้ายเสมอไป ไขมันมีประโยชน์ในการช่วยดูดซึมวิตามิน และแร่ธาตุ และช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย แต่ไขมันชนิดเลว (LDL) ในปริมาณที่มากเกินไปก็เป็นสาเหตุของคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นที่มาของโรคเรื้อรังอันตราย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด คุณควรกินอาหารที่มีไขมันในปริมาณที่เหมาะสม โดยเลือกกินอาหารที่ให้ไขมันชนิดดี (HDL) เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก เพื่อเพิ่มปริมาณไขมันดีในร่างกาย และหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้ไขมันชนิดเลว เช่น ของทอดต่างๆ เพื่อลดโอกาสการเกินภาวะคอเลสเตอรอลสูง

แหล่งโปรตีน

Body Project ขอเกริ่นก่อนว่า “โปรตีน” มีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย ถ้าคุณกินอย่างถูกวิธีก็ช่วยลดไขมันในร่างกายได้ด้วย ถ้าคุณสนใจเรื่องรูปร่างที่ไม่ใช่ตัวเลขบนตาชั่ง คุณต้องคำนึงถึงสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน การที่คุณจะลดไขมัน คุณจะต้องกินอาหารจากแหล่งที่มีคุณภาพ กินอาหารที่ให้โปรตีนสูง

เพื่อนๆ ดูจากรูปข้างบนจะเห็นว่าเนยถั่วมีโปรตีนก็จริง แต่สัดส่วนของไขมันมากกว่า แคลอรี่มาจากไขมัน 76% แต่อย่างรูปขวา อกไก่มีไขมันต่ำ คาร์บต่ำ โปรตีนสูง แคลอรี่มาจากโปรตีน 78% ซึ่งการจะลดไขมัน หลายคนเข้าใจว่าต้องกินน้อย อดอาหาร เพราะกลัวการกินปริมาณเยอะ ซึ่งอาหารที่ปริมาณเยอะไม่ได้ทำให้คุณอ้วน แต่อาหารที่ให้พลังงานเยอะต่างหากที่ทำให้คุณอ้วน อย่างในรูปก็เป็นตัวอย่างให้เห็นถ้าคุณต้องการโปรตีน อกไก่ก็ให้แคลอรี่น้อยกว่า แถมโปรตีนมากกว่า ปริมาณเยอะกว่าด้วย กินแล้วก็จะอิ่มท้อง ไม่หิวบ่อย การจะลดไขมันคือ การที่คุณได้รับพลังงานจากอาหารน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน

ถ้าคุณสนใจเรื่องหุ่น “สารอาหารสำคัญ”

How to ‘สร้างซิกแพค’

คำถามเบสิคที่พบเจอบ่อยๆ อยากมีซิกแพค มีหน้าท้องสวยๆ ต้องออกกำลังกายท่าไหน

เพื่อนๆ ดูจากรูปจะเห็นว่าทุกคนมีกล้ามท้องกันอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ไม่เห็นกล้ามท้อง เพราะมีชั้นไขมันบังเอาไว้อยู่ ซึ่งการเล่นหน้าท้องเป็นการบริหารกล้ามเนื้อให้กระชับขึ้น และแข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้ไขมันตรงหน้าท้องหายไป เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากเห็นกล้ามท้องชัดๆ เห็นซิกแพค 6 ลูก 8 ลูก ก็แล้วแต่กรรมพันธุ์ คุณแค่ลดไขมันลง ซึ่งไขมันลดเฉพาะส่วนไม่ได้ ไขมันลดทั้งตัว

การจะลดไขมันก็คือทำให้ร่างกายเกิด Calorie Deficit การที่คุณได้รับพลังงานจากการกินน้อยกว่าพลังงานที่ใช้แต่ละวันร่างกายจะดึงไขมันสะสมมาใช้เป็นพลังงานก็ทำให้ไขมันลดลง การจะทำให้เกิดส่วนต่างของแคลอรี่ก็ทำได้ไม่ยากเลย คุณแค่คุมอาหารให้แคลอรี่น้อยกว่าแคลอรี่ที่ใช้เล็กน้อย และออกกำลังกายทั้งเวทเทรนนิ่ง และคาร์ดิโอเพื่อใช้แคลอรี่ต่อวันให้มากขึ้น ทำแบบนี้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะการลดไขมันต้องใช้เวลา แค่นี้ทุกคนก็เห็นซิกแพค และเล่นกล้ามท้องสม่ำเสมอ กล้ามท้องจะได้ดูคมขึ้น และแข็งแรงขึ้นค่ะ

สารอาหารหลักให้พลังงานกี่แคลกันนะ

1. โปรตีน

สารอาหารประเภทโปรตีนเป็นสารอาหารที่มีในร่างกายมากที่สุดรองจากน้ำ มีหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดคือ กรดอะมิโน ซึ่งมีประมาณ 12 -22 ชนิด แบ่งเป็น กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย สารอาหารประเภทโปรตีนมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างสารควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น ฮอร์โมน และเอนไซม์ รักษาดุลยภาพของสารต่างๆ ในร่างกาย ให้พลังงาน และความร้อน เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรต และไขมัน ช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตัน และสร้างภูมิคุ้มกันโรค โปรตีนจะพบมากในไข่ นม เนื้อสัตว์ ถั่ว ข้าว ข้าวโพด ผัก และผลไม้บางชนิด โปรตีนในเนื้อสัตว์เป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ เพราะมีกรดอะมิโนครบตามความต้องการของร่างกาย แต่หากผู้ใดไม่รับประทานเนื้อสัตว์ก็สามารถรับประทานอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด ผัก และผลไม้ชดเชยได้ แต่อาหารประเภทนี้ก็จะมีกรดอะมิโนไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่

2. คาร์โบไฮเดรต

สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอินทรีย์ที่ให้พลังงานที่สำคัญแก่ร่างกาย มักพบอยู่ในรูปของแป้ง น้ำตาล ขนมปัง ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากนม คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ หากปริมาณคาร์โบไฮเดรตในร่างกายมีมากเกินความต้องการ ร่างกายจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินนี้ให้อยู่ในรูปของไกลโคเจน และเก็บสะสมไว้ในร่างกาย

3. ไขมัน

สารอาหารประเภทไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูง ประกอบด้วยกรดไขมัน และ กลีเซอรอล พบมากในไขมันจากพืช มันสัตว์ นม เนย ถั่ว กรดไขมันแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

3.1 กรดไขมันอิ่มตัว เป็นไขมันที่พบมากในเนื้อสัตว์ มันสัตว์ หนังสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง กุ้ง ปู นม และผลิตภัณฑ์จากนม ไขมันประเภทนี้หากมีมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน

3.2 กรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นไขมันที่พบมากในถั่ว เต้าหู้ เห็ด น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม) ช่วยลดการดูดซึมไขมันอิ่มตัว ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ สารอาหารประเภทไขมันช่วยให้อาหารมีรส กลิ่น และเนื้อสัมผัสที่ดีขึ้น ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และ เค ไขมันที่มีมากเกินความต้องการของร่างกายจะถูกสะสมเป็นชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายใน ป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกาย