นอนน้อย (Lack of Sleep) คือ ภาวะที่ร่างกายนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกาย สภาวะอารมณ์ และการดำเนินชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นประจำยังทำให้เสี่ยงป่วย แถมมีปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
สมองทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
การอดนอนหรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถส่งผลให้สมองของคุณทำงานผิดพลาด ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หรือทำงานได้ช้าลง ส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิด ความจำ และการตัดสินใจได้ เพราะการนอนไม่เพียงพอจะทำให้ความสามารถในการใช้เหตุผล ทักษะการแก้ปัญหา การตัดสินใจ การประเมินสถานการณ์ และสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้
น้ำหนักเพิ่ม อ้วนง่าย
โดยพบว่าผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่น้ำหนักตัวจะมากขึ้น และเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้สูงกว่าผู้ที่นอนหลับ 7 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ที่นอนน้อยจะมีสารเคมีเลปติน (Leptin) ที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มอยู่ในระดับต่ำ และมีฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่กระตุ้นให้หิวอยู่ในระดับมาก
ระบบร่างกายรวน
ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด, ท้องเฟ้อ, อาหารย่อยไม่ดี และการถ่ายอุจจาระไม่เป็นปกติ บางครั้งท้องเสีย แต่บางครั้งก็อาจท้องผูกขึ้นมากระทัน เพราะกระเพาะอาหารเกิดการล้า จึงทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ภูมิต้านทานโรคต่ำลง
ในขณะนอนหลับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะผลิตเซลล์ Cytokines และ Antibody เพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย การอดนอนจึงทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อได้นอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อช่วยถนอมร่างกายให้เเข็งเเรง
ความต้องการทางเพศลดลง
เพราะการนอนไม่หลับจะทำให้ฮอร์โมน “เทสโทสเทอโรน” ต่ำลง ซึ่งทำให้ความต้องการทางเพศลดต่ำลงไปด้วย จากการตรวจของแพทย์จะเห็นได้ว่าผู้ที่เสื่อมสรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่ มักจะมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนน้อยหรือนอนไม่หลับเลยทั้งคืน
ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
โดยมีการวิจัยในกลุ่มคนที่ไม่ได้นอนเป็นเวลา 88 ชม. พบว่ามีความดันเลือดที่สูงมากผิดปกติ และในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า การอดนอนจึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
แก้ปัญหาการนอนอย่างไรดี?
- ห้องนอนควรมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ควรนำสิ่งของที่รบกวนการพักผ่อน เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ก่อให้เกิดแสง สี เสียงหรือเตียงนอน และผ้าปูที่นอนที่ไม่เอื้อต่อการพักผ่อนมาไว้ในห้องนอน สภาพแวดล้อมของห้องนอนควรใช้สีโทนเย็นให้ความรู้สึกสงบ เป็นระเบียบ และอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 18-24 องศาเซลเซียส
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือช่วงกลางวัน และไม่ควรใกล้เวลานอนมาก (การออกกำลังกายควรห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง)
- ควรทำร่างกาย และจิตใจให้ผ่อนคลาย เช่น อาบน้ำอุ่นเพื่อปรับอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสม อ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ
- รักษาเวลาการเข้านอน และการตื่นให้คงที่สม่ำเสมอมากที่สุด